นาซีและสี่แยกไฟแดง เด็กเยอรมันเค้าเรียนอะไรกันในคลาสประวัติศาสตร์และการเมือง?


เด็กเยอรมันต้องเรียนเกี่ยวกับฮิตเลอร์และนาซีทุกคนรึเปล่า? มีไปทริปค่ายกักกันกับโรงเรียนด้วยหรอ? ทำไมโครงการสร้างไฟแดงกลางสี่แยกถึงช่วยให้เด็กเข้าใจการเมืองมากขึ้นได้?


วันนี้เรามาชวนคุยกับปีเตอร์ คุณครูฝึกสอนชาวเยอรมันที่เพิ่งจบจาก Freie Universität Berlin สาขาการสอนวิชาคณิตศาสตร์และการเมือง คุณปีเตอร์ยังเป็นที่ปรึกษาด้านการศึกษาให้กับ Keen Education ด้วย

เด็กนักเรียนชั้นประถม และมัธยมมีเรียนวิชาประวัติศาสตร์และวิชาการเมืองกันด้วยรึเปล่า?

สำหรับเด็กประถม (Grundschule) จะไม่ได้มีวิชาพวกนี้โดยตรงนะครับ แต่เริ่มเรียนรู้ผ่านวิชาที่เรียกว่า ‘Sachkunde’ (ซัคคุนเด้อ) วิชานี้ไม่มีคำแปลตรงตัว แต่จุดประสงค์ของวิชานี้คือจะให้เด็กได้เรียนและเข้าใจโลกและสังคมรอบตัวเค้าได้ดียิ่งขึ้นครับ ที่สอนในวิชานี้ก็จะมีตั้งแต่เกร็ดประวัติศาสตร์ ไปจนถึงเคมีและฟิสิกส์เลยครับ ส่วนเรื่องการเมือง ไม่เชิงเป็นการสอนครับ อาจจะเป็นแค่การแนะนำเริ่มต้นมากกว่า เช่นช่วงเลือกตั้งใหญ่ของเยอรมัน ทางคุณครูโรงเรียนประถมเองก็จะมีการพูดถึงและอธิบายให้เด็กฟังเบื้องต้นครับว่าเกิดอะไรขึ้น ผู้ใหญ่เค้าทำอะไรกัน

แต่สำหรับนักเรียนชั้นมัธยม (Gymnasium/Realschule) แทบทุกเขตการศึกษาจะบังคับให้มีการสอนวิชาประวัติศาสตร์ครับ ส่วนวิชาการเมือง ไม่ได้มีสอนทุกโรงเรียน

คุณปีเตอร์ คุณครูฝึกสอนวิชาคณิตศาสตร์และการเมืองชาวเยอรมัน

แล้วเด็กมัธยมเยอรมันเรียนอะไรบ้างในวิชาประวัติศาสตร์?

ขอตอบว่าส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ประวัติศาสตร์ในแทบยุโรปมากกว่าครับ ก็คือเรียนกันตั้งแต่ยุคนีแอนเดอร์ทัล ไล่ไปยุคกรีก โรมัน ยุคกลาง สงครามโลก จนถึงสงครามเย็นเลย ที่โรงเรียนจะเน้นเป็นช่วงยุคศตวรรษที่ 20 เพราะอย่างที่รู้กัน ประวัติศาสตร์ส่วนนี้ของเยอรมันจะค่อนข้างเข้มข้นเลยทีเดียว (หัวเราะ)

แปลว่าเด็กเยอรมันทุกคนต้องเรียนเกี่ยวกับนาซีและฮิตเลอร์?

แน่นอนครับ เด็กเยอรมันทุกคนอย่างน้อยต้องรู้ว่าเค้าเป็นใครและเกิดอะไรขึ้นบ้าง

แล้ววิชาการเมืองที่สอนในชั้นมัธยมหล่ะ สอนอะไรบ้าง?

วิชาการเมืองจะค่อนข้างกว้างมากๆครับ อย่างแรกเลยคือเราจะสอนเด็กให้เข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองในเยอรมันก่อน ว่าเป็นรูปแบบไหน ใครมีหน้าที่อะไรบ้าง อันนี้รายละเอียดจะเยอะหน่อยและอาจจะน่าเบื่อสำหรับเด็กบ้าง แต่นักเรียนจำเป็นต้องเข้าใจในส่วนพื้นฐานอันนี้ก่อนครับ

ที่เราพยายามต่อยอดหลังจากนั้น และถือว่าเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของคุณครู คือการให้เด็กทุกคนได้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีวิจารณญาณ คำว่าวิจารณญาณ (Judgement) อันนี้สำคัญมากๆในการสอนวิชาด้านการเมือง มันคือ “ปัญญาหรือความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ถูกต้อง เหมาะสม และสอดคล้องตามเหตุผล อันได้มาจากกระบวนการคิด และพิจารณาด้วยความรู้ และประสบการณ์เดิมของตน”

เราจะพยายามสอนโดยเน้นการพัฒณาทักษะด้าน critical thinking ให้กับเด็กครับ คุณครูจะคอยกระตุ้นให้เด็กฝึกตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์ สรุปประเมิณ โดยใช้ความรู้ เหตุและผลประกอบการตัดสินใจ เคสที่เราชอบยกตัวอย่างมาให้นักเรียนได้ฝึกกันจะเป็นเคสของโครงการสร้างไฟแดงกลางสี่แยกครับ เราจะแบ่งเด็กเป็นหลายทีมและให้ข้อมูลที่ต่างกันออกไป และเด็กจะต้องมาดีเบตหาข้อสรุปกันครับว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง

เช่นเด็กกลุ่มหนึ่งจะเสนอว่าถ้าสร้างแล้วจะช่วยลดอุบัติเหตุรถชนกันไปได้เยอะมาก แต่เด็กอีกกลุ่มกับแย้งโดยให้เหตุผลว่าจะมีคนโดนชนมากกว่าเดิม เพราะรถชอบเร่งความเร็วตอนไฟเหลือง และเราควรให้ความสำคัญกับชีวิตคนเดินถนนมากกว่าคนขับรถ และเด็กอีกกลุ่มอาจจะยกอีกประเด็นมาเลย ว่าการที่มีไฟแดง ทำให้มลภาวะทางอากาศของพื้นที่ตรงนั้นเลวร้ายขึ้น เพราะรถจอดรอไฟแดงปล่อยควันดำ กระทบกับชาวบ้านที่อยู่แถวนั้นอีก

แล้วเรามีวิถีไหนที่ทำให้เวลาเราสอน แล้วเด็กรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว และเป็นเรื่องที่ไม่น่าเบื่อบ้าง?

เราพยามไม่ใช่แค่สอนตามหนังสืออย่างเดียว แต่เราจะพยายามดึงบุคคลากรข้างนอกที่มีความรู้เข้ามาพูดคุยเพิ่มเติมในโรงเรียน และพานักเรียนออกไปเยี่ยมชมสถานที่จริงตามรอยประวัติศาสตร์ครับ อย่างหลายโรงเรียนในเยอรมัน จะมีจัดทริปไปเยี่ยมค่ายกักกัน (ยุคนาซี) ต่างๆทั่วเยอรมันและในยุโรปตะวันออกครับ

แต่ในมุมมองของคนที่ทำงานด้านการสอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และการเมืองนั้น เราถือว่าค่ายกักกันเป็นยอดของภูเขาน้ำแข็งครับ โอเค เด็กๆควรที่จะไปให้เห็นกับตาว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่จริงๆ ตัวภูเขาน้ำแข็งเองคือมีอยู่กระจายรอบเยอรมัน ซึ่งเราพยายามสอนนักเรียนให้เข้าใจภาพรวมทั้งหมด รวมถึงที่มาที่ไปด้วยครับ เช่นการที่เราพาเด็กไปเยี่ยมบ้านพักตากอากาศวานเซ (Wannsee) ถึงแม้จะเป็นแค่บ้านธรรมดา แต่ก็เป็นสถานที่สำคัญในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวครับ

เรายังพยายามสอนให้นักเรียนเข้าใจว่า ความโหดร้ายของยุคนาซีไม่ได้มีแค่ในค่ายกักกัน แต่มันเกิดขึ้นทุกที่เลย ในเบอร์ลินเอง แค่เด็กนักเรียนเดินออกจากบ้านตัวเองบางครั้งก็จะเจออิฐสีทองสลักชื่อครอบครัวชาวยิวที่เคยอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้อยู่ข้างหน้าตัวเองแล้ว